มหากาพย์แมวศุภลักษณ์ สมบัติของคนไทยที่ชาวต่างชาติต้องตลึง ! แมวไทยไปแมวโลก


ก่อนอื่นต้องขอเกริ่นนำเกี่ยวกับแมวเสียก่อน เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าแมวไทยในตำราสมุดข่อยนั้นมีถึง 17ชนิด สูญหายไปแล้วกว่า13ชนิด เหลืออยู่เพียง4ชนิดเท่านั้น คือ 1.แมววิเชียรมาศ 2.แมวมาเลสหรือแมวสีสวาด 3.แมวดำโกนจา 4.แมวศุภลักษณ์

แต่ยังมีแมวไทยอีก3ชนิดที่ไม่ได้ถูกจารึกในตำราสมุดข่อย เนื่องจากเพิ่งค้นพบกันในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้เอง คือ 1.แมวขาวมณี 2.แมวไทยเบอร์มีส และ 3.แมวไทยท็องกีนีส (ลูกผสมระหว่างแมวเบอร์มีสและแมววิเชียรมาศ)
แมวไทยมงคลถูกนำมาจัดทำปฏิทินปี พ.ศ.2559
ส่วนแมวแซมเสวตรนั้นเป็นเพียงลักษณะของแมว มิใช่สายพันธุ์ จึงถูกจัดให้อยู่ในลักษณะของความผิดปกติในแมวดำ ขนสามารถงอกขาวและงอกดำได้ เมื่อตรวจสอบ DNA แล้ว ไม่น่าจะมียีนส์ของแมวในลักษณะของแซมเสวตร ทางด้านนักอนุรักษ์แมวไทยได้ตามเคสของแมวแซมเสวตรมาหลายตัวแล้ว ผลสุดท้ายแมวแซมเสวตรก็ผลัดขนกลับมาเป็นแมวดำโกนจา

ส่วนแมวศุภลักษณ์นั้นเป็นแมวไทยชนิดล่าสุดที่เพิ่งฟื้นคืนชีพจากการสูญพันธุ์ เนื่องจากแมวศุภลักษณ์เคยจัดให้สูญพันธุ์จากประเทศไทยไปนานนับ200ปีแล้ว ที่ผ่านมาคนไทยต้อนเรียนรู้จากประวัติศาสตร์เท่านั้นด้วยการศึกษาตำราจากสมุดข่อยโบราณ จากหอสมุดแห่งชาติ และจิตรกรรมฝาฝนังโบราณ
ผลการตรวจ DNA แมวศุภลักษณ์จากสถาบันในประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อใช้เป้นต้นแบบการวิจัยในประเทศไทย

สูญพันธุ์คืออะไร ? แน่นอนว่าเกิดคำถามมากมายว่าทำไมถึงเรียกว่าสูญพันธุ์ ทั้งๆที่เรายังตามแมวศุภลักษณ์เจออยู่ไม่ใช่หรอ ? การที่เราจะเรียกสัตว์ชนิดว่าสูญพันธุ์นั้น โดยทางพันธุศาสตร์กล่าวไว้ว่า "หากเราไม่สามารถค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดนั้นได้เกิดกว่า10ปี ถือว่าสูญพันธุ์โดยพฤตินัย" เช่น สมัน, กูปรี, นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร ซึ่งหลายฝ่ายยังคาดว่าอาจจะยังไม่สูญพันธุ์และยังคงมีอยู่ในธรรมชาติ แต่เมื่อตราบใดก็ตามที่เราไม่พบในระยะ10ปีมานี้ จะถือว่าสูญพันธุ์ไปโดยพฤตินัย

แมวศุภลักษณ์ก็เช่นกัน ประเทศไทยมีเอกสารโบราณที่เชื่อมโยงประวัติศาสตร์อายุไม่ต่ำกว่า200-300ปี ซึ่งบอกไว้ถึงแมวศุภลักษณ์เป็นแมวสีสนิมหรือสีทองแดง สีขนสม่ำเสมอทั้งตัว ดวงตาสีเหลืองอำพัน เล็บหรืออุ้งเท้าสีแดง ผู้ใดใคร่เลี้ยงไว้จะร่ำรวยเงินทอง สินทรัพย์สาระพัน ข้าจักได้เป็นนาย อยู่นานไปจะเรืองรอง ฯ
นอกจากจะพบคำว่า"ศุภลักษณ"ในตำราโบราณแล้ว เรายังพบชื่อช้างศุภลักษณ์ เช่นดังภาพ เป็นช้างเผือกชนิดศุภลักษณ์อยู่ในตระกูลอัคนิพงศ์ พระเพลิงเป็นผู้สร้าง เป็น 1ใน4 ของตระกูลช้างเผือก คือ ตระกูลอัคนิพงศ์, ตระกูลพรหมพงศ์, ตระกูลวิษณุพงศ์ และตระกูลอิศวรพงศ์ โดยทุกวันนี้ราชสำนักในวังยังยึดถึงการดูช้างเผือกจากตำราคชรนี้อยู่ เช่น พระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ เป็นพระยาช้างเผือกประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นช้างสำคัญในตระกูลพรหมพงศ์ โดยในยุครัชกาลที่9นี้ยังไม่มีมีช้างในตระกูลอัคนิพงศ์
แต่จากคำบอกเล่า หลังเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่2 แมวไทยก็กระเจิดกระเจิงหายไปจากแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาจวบจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากมีความเชื่อว่า แมวไทยมงคลทั้ง17ชนิดถูกเลี้ยงไว้ในพระราชวังอยุธยา เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินเลี้ยงไว้เท่านั้น สามัญชนแทบจะไม่มีสิทธิ์ได้เลี้ยง จะเว้นแต่ขุนนาง เสหบดี หรือผู้ที่ร่ำรวยมั่งคั่งจนสามารถหาแมวมาเลี้ยงได้ แต่ถึงอย่างไรก็ดีตำราแมวนั้นผู้ที่เขียนคือโหรหลวง พระ หรือผู้ที่มีความรู้เรื่องศาสตร์ ซึ่งนั่นหมายความว่าตำรานั้นคือตำราหลวง ตำราแมวบางฉบับถูกเขียนรวมกับตำราคชร(ตำราดูช้าง)อีกด้วย บ้างก็เขียนรวบกับตำรายา ตำราดูม้า ตำราศึก เป็นต้น ถึงแม้ในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์สมัยรัชกาลที่3, 4 และ 5 จะมีการคัดลอกเอกสารเก่าไว้ก็ตาม แต่ก็ยังไม่มีผู้ใดพบแมวศุภลักษณ์ จะเว้นไว้แต่แมววิเชียรมาศ แมวมาเลศ และแมวดำโกนจาเท่านั้น
ตำราแมวไทยโบราณ ณ หอสมุดแห่งชาติ


ตำราแมวศุภลักษณ์ วัดท่าพูด, จังหวัดนครปฐม
จากข้อสันนิฐานของการสูญพันธุ์ของแมวไทยมี2กรณีใหญ่ๆ

1. พม่าขนแมวไทยจากกรุงศรีอยุธยากลับไปพม่าด้วย นำไปพร้อมกับทองคำ เชลย ข้าทาสบริวาร รวมถึงทรัพย์สฤคารที่มีค่า เราตรวจพบได้ว่าการเสียกรุงศรีอยุธยานั้นมีเชลยชาวอยุธยาถูกเกณฑ์กลับไปพม่าด้วยกว่า2แสนคน และไม่มีวันได้กลับมายังสยามอีกเลย เนื่องจากสยามไม่สามารถตีพม่าให้ชนะไปจนถึงเมืองมัณฑเลย์ซึ่งเป้นที่อยู่ของเชลยชาวอยุธยาได้ แต่จากการตามหาแมวไทยในพม่านั้นกลับไม่ประสพผลสำเร็จ เพราะเราตามไม่เจอแมวไทย จะพบแต่ภาพวาดของเชลยชาวอยุธยาในพม่า และชาวอยุธยาโบราณในกรุงมัณฑเลย์เหยียบแสนคนก็ไม่สามารถพูดภาษาสยามได้อีกแล้ว คล้ายๆกับกรณีที่คนจีนในไทยพูดภาษาจีนไม่ได้แล้วอย่างไรอย่างนั้น

2. แมวไทยอาจจะไม่ได้หายไปไหน แต่แตกตื่นสงครามจนกระจัดกระจายหายไปเอง จากข้อศึกษาทางประวัติศาสตร์ พม่ายิงปืนใหญ่นัดแรกใส่กรุงศรีอยุธยาที่วัดหน้าพระเมรุ อีกฟากฝั่งของเกาะอยุธยาที่กั้นเขตด้วยแม่น้ำลพบุรีเก่า ซึ่งเมื่อยิงเข้ามาก็คือพระบรมหาราชวังของกรุงศรีอยุธยานั้นเลย สาเหตุที่วัดชื่อว่าวัดหน้าพระเมรุ คำว่า "พระเมรุ" ก็หมายสถานที่เผาศพของกษัติย์หรือเชื้อพระวงศ์ นั่นก็คือท้องสนามหลวงของอยุธยานั่นเอง เป็นไปได้ว่าแถบนั้นคือสถานที่อันสำคัญของกรุงศรีอยุธยาที่เต็มไปด้วยความสำคัญ และมีบ้านเรือนมากมาย หากเปรียบเทียบโดยเข้าใจง่าย เรายิงปืนใหญ่จากวัดอรุณมาวัดโพธิ์และวัดพระแก้วอย่างไรอย่างนั้น หากข้อสันนิฐานนี้เป็นจริง แน่นอนว่าแมวในพระบรมหาราชวังอยุธยาแตกตื่นแน่นอน เพราะการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้ง2นั้นกินระยะเวลานาน สู้รบกันทั้งวันทั้งคืน หลังจากสงครามจบกรุงศรีอยุะยาก็กลายเป้นเมืองร้าง คนไทยลงมาสร้างเมืองหลวงใหม่ทางตอนใต้คือกรุงธนบุรีและกรุงเทพมหานคร ส่วนกรุงศรีอยุธยาจึงหมดความสำคัญลง
แมวศุภลักษณ์ตัวแรกที่เจอคือปี พ.ศ.2555 เจอโดยบังเอิญเป็นแมวจรข้างถนนในจังหวัดสมุทรปราการ แถวถนนสุขสวัสดิ์ โดยเป็นลูกแมวที่มีสภาพโดนคนทำร้าย ขาเดินไม่ได้คล้ายถูกตี แต่ถึงตอนนั้นยังไม่มีใครรู้ว่าคือแมวศุภลักษณ์ / แมวศุภลักษณ์ตัวที่2ที่เจอ คือแมวของพี่วินมอเตอร์ไซต์ในเมืองแม่สาย จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นแมวท้องแก่ / แมวศุภลักษณ์ตัวที่3ที่เจอ คือแมวของขอทานข้างสะพานลอย ฯลฯ โดยในปัจจุบันเดือนเมษายน 2559 ทางสมาคมแมวไทยโบราณนานาชาติ (TIMBA) ได้รวมรวม list รายชื่อของแมวศุภลักษณ์ทั่วประเทศที่ตามเจอ ด้วนแมวของตนก็ดี และแมวที่มีเจ้าของแล้วก็ดีที่นำแมวมาลงทะเบียน ยังมีไม่ถึง50ตัว ซึ่งน่าจะอยู่ในราวๆ40ตัว
ตำราแมวไทยสมัยรัตนโกสินทร์
โดยแมวศุภลักษณ์ตัวแรกที่เจอชื่อว่า อโยธยา เป็นแมวตัวผู้ ตอนนั้นไม่มีใครรู้ว่ามันคือแมวศุภลักษณ์ จึงนำไปให้คุณลุงกำนันปรีชา พุคบุตร ที่เมืองอัมพวาดู ปรากฎว่าคุณปรีชากลับบอกว่า "นี่แหละคือสิ่งที่ผมตามหามานาน" จากนั้นจึงให้คุณลุงกำนันปรีชาเลี้ยงไว้ และนำแมวศุภลักษณ์ตัวผู้ไปผสม ส่วนเจ้าของแมวได้เดินทางไปทำงานยังต่างประเทศ

ด้วยความที่ตอนนั้นคนไทยไม่มีความรู้เรื่อง Genetic ของแมวเลย จึงมีการผสมแมวพลาดหลายรอบ กำนันปรีชานำแมวศุภลักษณ์ไปผสมกับแมวเบอร์มีส เพราะคิดว่าน่าจะเป็นแมวศุภลักษณ์ด้วยกัน ปรากฎว่าลูกออกมาเป็นแมวดำโกนจาทั้งหมด หลังจากนั้นด้วยความแปลกใจจึงกระจายแมวอโยธยาไปผสมกับเบอร์มีสตัวเมียตัวอื่นๆ ผลก็ออกมาเช่นเดิมคือ "ลูกทุกตัวเป็นแมวดำโกนจา" ทางคุณลุงปรีชาจึงอนุญาตให้นำแมวศุภลักษณ์และลูกๆแมวดำโกนจากลับมาเลี้ยงเองทั้งหมด และเพื่อการนำไปต่อยอดวิจัย

ด้วยความมึนงงตอนนั้นได้นำแมวศุภลักษณ์ไปผสมกับแมวเบอร์มีสหลายรอบ แล้วไม่มีตัวไหนออกมาเป็นแมวศุภลักษณ์และแมวเบอร์มีสเลยสักตัวเลย จึงเริ่มตั้งทีมวิจัยขึ้น ส่ง DNA ของแมวไปตรวจยังประเทศสหรัฐอเมริกา และได้ผลออกมาว่า แมวศุภลักษณ์นั้นมียีนส์สีน้ำตาลช็อกโกแล็ต (b) ส่วนแมวเบอร์มีสทุกตัวมียีนส์สีดำถ่าน (B) จึงไม่สามารถมาผสมกันได้ เพราะจะทำให้ลูกแมวโดนสีดำกลบ และยีนส์ของแมวศุภลักษณ์จะร่วงไปเป็นยีนส์แฝงที่ไม่สามารถถ่ายทอดออกมากับลูกแมวได้ มิหนำซ้ำเรายังได้คำตอบว่า แมวเบอร์มีสไม่ใช่พันธุ์เดียวกับแมวศุภลักษณ์ที่ชื่ออโยธยาที่เจอ แต่กลับเป็นอีกสายพันธุ์หนึ่งที่ไม่ได้เป็นญาติฝ่ายใดกันเลยสักนิด
แมวศุภลักษณ์
เปรียบเทียบระหว่างแมวศุภลักษณ์และแมวเบอร์มีส โดยใช้ Genetic จากหนึ่งในสมาคมแมวโลก
แมวศุภลักษณ์จัดอยู่ในประเภทของแมวสีล้วนทั้งตัวเช่นเดียวกับแมวดำโกนจา แมวสีสวาด / ส่วนแมวเบอร์มีสจัดอยู่ในประเภทของแมวที่มีหน้ากาก คือตระกูลของแมววิเชียรมาศ มีจุดเข้ม9จุดที่ใบหน้า หูทั้ง2 ขาทั้ง4 หาง1 และอวัยวะเพศ1 คาดว่าแมวเบอร์มีสและแมววิเชียรมาศเคยเป็นชนิดเดียวกันมาก่อน แล้วแยกกันวิวัฒธนาการออกไปจนเกิดความแตกต่างทั้งสีขนสีและสีตา

นอกเหนือจากนั้น แมวศุภลักษณ์ยังมียีนส์ที่ไม่เหมือนใครด้วย แมวศุภลักษณ์มียีนส์ขนสีน้ำตาลช็อกโกแล็ต (b) ส่วนแมวเบอร์มีสและแมววิเชียรมาศมียีนส์ขนสีดำถ่าน (B) แต่แมวเบอร์มีสและแมววิเชียรมาศมีความสามารถพิเศษคือ สามารถสกัดสีในยีนส์ให้ออกมาเป็นสีน้ำตาลไหม้ได้ แล้งแสดงออกมาทางสีขน ส่วนแมวศุภลักษณ์นั้นไม่ต้องทำอะไรเลย ยีนส์ขนสีน้ำตาลช็อกโกแล็ตก็สกัดออกมาเป็นสีทองแดงได้เลย

แมวไทยที่มียีนส์สีดำถ่าน (B) ได้แก่ วิเชียรมาศ, แมวเบอร์มีส, แมวสีสวาด, แมวดำโกนจา แมวแต่ละชนิดมีกระบวนการสร้างสีขนที่ต่างกัน เช่น แมวสีสวาดหรือสีเทาถึงแม้จะมียีนส์สีดำ แต่มียีนส์กดสีพ่วงท้ายด้วย การกดสีจนกดให้สีดำเป็นสีเทา ดังนั้นแมวที่มียีนส์สีดำจึงผสมกับแมวศุภลักษณ์ไม่ได้เด็ดขาด
แผนผังแสดง Genetic ของแมวไทย แมวศุภลักษณ์ผสมกับแมวชนิดใดๆก็ตามลูกมักจะออกมาเป็นแมวดำโกนจา ยกเว้นว่าคู่ของแมวตัวนั้นๆจะมียีนส์แฝงของสีศุภลักษณ์ (b)



ประเภทของแมวไทยในปัจจุบัน
ชาวสหรัฐอเมริกาบินมาดูแมวศุภลักษณ์และแมวไทยโดยเฉพาะ
ทางสมาคมแมวไทยโบราณนานาชาติ หรือ TIMBA ได้ร่วมมือกับชาวต่างชาติเพื่อวิจัยแมวศุภลักษณ์โดยเฉพาะมานานกว่า2ปีแล้ว โดยเพิ่งสำเร็จเมื่อปี พ.ศ.2558 นี้เอง แต่ถึงอย่างไรก็ตามแมวศุภลักษณ์ที่เราตามหากันมาทั้งประเทศยังมีไม่ถึง50ตัว เราจะนับเฉพาะผู้ที่นำแมวมาลงทะเบียนกับทางสมาคมเท่านั้น ผู้ที่ไม่ยอมนำแมวศุภลักษณ์มาติดต่อพูดคุยหรือลงทะเบียนเราไม่สามารถนับได้ เพราะไม่ทราบว่าแมวมีลักษณะที่ถูกต้องไหม และจำนวนที่นับนั้นมีความสำคัญกับการจดทะเบียนโลกกับสมาคมแมวโลกเพื่อให้เป็นที่ยอมรับอีกด้วย ซึ่งสแตนดาร์ดมาตราฐานอยู่ที่ 200ตัว และ8รุ่นแมว ฯลฯ

การวิจัย DNA แมวศุภลักษณ์ กับทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน
เลือดของแมวศุภลักษณ์ถูกเจาะนำมาวิจัย DNA 

Genetic ของแมวศุภลักษณ์และแมวเบอร์มีส ซึ่งเป็นรายมือของนักวิจัยชาวสหรัฐอเมริกา
ขั้นตอนการตรวจ DNA แมวศุภลักษณ์ ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน

นอกเหนือจากทีมวิจัยแมวศุภลักษณ์แล้ว ยังมีนักอนุรักษ์แมวไทยอีกท่านหนึ่งคือพระอดิศร ท่านเป็นผู้ที่รวบรวมตำราแมวหลายฉบับและนำมาแปล เนื่องจากตำราแมวหลายๆฉบับชำรุดเสียหาย ทางเราไม่สามารถนำมาแปลได้หมด และเป็นผู้ที่ช่วยตามหาแมวศุภลักษณ์อีกด้วย ที่จริงแล้วท่านเป็นผู้ที่สนใจแมวไทยมาตั้งแต่ยังไม่บวช แต่เมื่อบวชแล้วก็ไม่ได้ทิ้งเจตนารมณ์ดังกล่าว แถมยังเป็นที่ปรึกษาให้กับการวิจัยแมวศุภลักษณ์โดยตลอด
" สีของแมวศุภลักษณ์จะเป็นแมวศุภลักษณ์หรือแมวเบอร์มีสนั้น เรายึดตามตำราสมุดข่อยมาโดยตลอดครับ ตำราแมวทุกฉบับเขียนและวาดให้แมวศุภลักษณ์มีลำตัวสีล้วนทั้งตัวคือสีสนิมหรือสีทองแดง ดวงตาสีเหลืองอำพัน ไม่มีตำราแมวไหนที่วาดแมวศุภลักษณ์มีแต้มเข้มแบบแมวเบอร์มีสและแมววิเชียรมาศเลย ยกเว้นตำราแมวจากหอสมุดแห่งชาติที่ประเทศอังกฤษ British Library และตำราโคลงที่ 236 ซึ่งวาดแมวศุภลักษณ์ให้มีสีเข้ม ในบางมุมเราก็มองกันว่ามีแต้มเข้มคล้ายแมวเบอร์มีส แต่ถึงอย่างไรก็ตามตำรานี้เป็นตำราที่เขียนขึ้นใหม่อายุไม่น่าจะเกิน100ปี การจะทำแมวให้เป็นพันธุ์แท้เราต้องใช้หลักวิทยาศาสตร์ด้วยครับ คือนำแมวไทยในตำรามาเชื่อมโยงกับวิทยาศาสตร์ให้มากที่สุด ผลออกมาอย่างไรก็ต้องยอมรับ เพราะแมวตัวจริงกับในภาพวาดจะไม่เหมือนกันสะทีเดียว

อย่างเช่น พอพูดว่าแมวศุภลักษณ์มีขนสีทองแดง คนก็จะต้องเข้าใจว่าสีทองแดงนั้นเหมือนสีของลวดทองแดงในสายไฟ แต่นั่นผิดครับ เพราะนั่นคือทองแดงที่ใช้เทคโนโลยีในยุคปัจจุบันผลิตแล้ว คำว่าทองแดงในอดีตเป็นอย่างไร เราต้องลองไปหาพระพุทธโบราณหรือเครื่องปั้นสำริดที่ทำจากทองแดงดูครับ สีนั้นแหละที่เรียกว่าสีทองแดง คนโบราณเขียนตำราไว้มานานหลายร้อยปีแล้ว เราก็ต้องทำความเข้าใจอดีตด้วยครับ

หรืออีกตัวอย่างหนึ่งที่บรรพบุรุษเราวาดภาพแมวสีเทาแล้วเขียนว่า "สีประหลาดมาลาภร ตะกั่วตัดทัดเทียมศรี ดูงามตะลาเพชร" หลายคนก็ต้องคิดว่านี่คือแมวสีสวาดหรือแมวสีเทานั้นสวยงามจนดูประหลาด ถูกไหมครับ ? แต่จริงๆแล้วไม่ใช่ แต่นี่คือการเปรียบเทียบของแมวแซมเสวตรกับมาลาภร คำว่า"มาลาภร" หมายถึง พระมาลา+ภรณ์ ซึ่งแปลว่าเครื่องประดับบนศรีษะของเจ้านายชั้นสูง ส่วนคำว่า "ตะกั่วตัดทัดเทียมศรี" หมายถึงวัสดุที่อยู่บนมาลาภรณ์ แปลแบบเข้าใจง่ายๆคือ บนมงกุฎมีเพชรและตะกั่วอย่างเท่าๆกัน ตัดกันอย่างเท่าเทียม เปรียบเพชรเป็นแซมเสวตรที่แทรกออกมาจากตะกั่ว"ยังมีตำราแมวอีกมายมายที่ยังต้องใช้เวลาแปล บางตำราก็ผสมคำบาลีสันสกฤตสะเยอะ ตัวหลวงพี่เองบวชเป็นพระก็โชคดีอย่างหนึ่ง บางคำในบทสวดมนต์ก็มีคำเหมือนกับในตำราแมว เราก็เอาคำนั้นไปแปลอีกที เช่นคำว่า สาขะยัง แต่ในตำราเขียน สาขยงง (เป็นคำโบราณที่ยังไม่ถูกชำระ "ยัง" จะเขียนว่า "ยงง" อ่านว่า ยัง) แปลว่าหาค่ามิได้ เป็นต้น ในบางตำราก็มีแมวมากกว่า17ชนิดด้วยครับ ถ้าจะให้แปลให้หมดคงต้องใช้เวลาอีกสักระยะ แต่ที่เราทราบแน่แล้วคือมีแมวมงคลถึง17ชนิด แต่ที่ยากจะรู้คือตำรานั้นจะเขียนแมวไว้อย่างไร "
ตำราแมวจากหอสมุดแห่งชาติประเทศอังกฤษ British Library
จิตรกรรมฝาผนังแมวไทยที่หอไตรวัดพระเชตุพนฯ วาดขึ้นในสมัยรัชกาลที่3
การตามหาแมวศุภลักษณ์นั้น ครั้งแรกที่เรามีหลักฐานคือภาพถ่ายสมัยรัชกาลที่ 7 ค.ศ.1930 ซึ่งเป็นแมวเบอร์มีส ชื่อ Wong mau ฝรั่งเค้าเรียกว่าแมววิเชียรมาศที่มีสีเพี้ยน เพราะแมววิเชียรมาศและแมวเบอร์มีสเมื่อแก่แล้วจะคล้ายกัน จะต่างกันแค่สีของตา ได้มีการตามหาอยู่หลายครั้งแต่ไม่เจอจึงนำกลับไปสหรัฐอเมริกา และพัฒนามาเรื่อยๆจนนำไปจดทะเบียนในชื่อ Burmese Cat แต่ถือเป็นความโชคดีอย่างหนึ่งที่เขาไม่ได้จดในชื่อ Suphalak Cat มิฉะนั้นแมวศุภลักษณ์ก็จะมีสภาพเหมือนแมววิเชียรมาศในตอนนี้ คือฝรั่งเรียกกัน Siamese Cat เสียหมด ไม่มีใครเขาเรียก Wicheinmaat Cat แต่ถึงอย่างไรก็ดีแมวเบอร์มีสก็ยังไม่ใช่แมวศุภลักษณ์ตามตำรา 
การวิจัยแมวไทยร่วมกับพระครูเสนาะและพระอดิศร ที่หอไตร เขตราชสำนักวัดโพธิ์ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
ต่อเนื่องมาจนถึงที่คนไทยเริ่มมีการเพาะพันธุ์แมวไทยเมื่อ40กว่าปีที่แล้ว คนไทยคนแรกๆที่เริ่มพัฒนาแมวไทยคือคุณหญิงรื่น อภิบาลราชไมตรี คุณ Chris Lowe จากสถานบัน นิวซีแลนด์ (AB, NZCF) ได้เคยมาเมืองไทยเมื่อ 40 ปีที่แล้ว มาเยี่ยมชมแมวบ้านไทยของคุณหญิงรื่น อภิบาลราชไมตรี เจ้าของคอก มหาไชย เป็นนักเพาะพันธุ์แมวไทยรุ่นแรกๆ ที่มีใบเพ็ดดีกรี แกเคยให้สัมพาสไว้ว่า แกไม่เลี้ยงแมวเบอร์มีส เพราะแมวเบอร์มีสไม่มีในตำรา 

คุณ Chris Lowe จากสถานบัน นิวซีแลนด์ (AB, NZCF) ได้เคยมาเมืองไทยเมื่อ40ปีที่แล้ว มาเยี่ยมชมแมวบ้านไทยของคุณหญิงรื่น อภิบาลราชไมตรี เจ้าของคอก มหาไชย เป็นนักเพาะพันธุ์แมวไทยรุ่นแรกๆ ที่มีใบเพ็ดดีกรี


แมวศุภลักษณ์คอกแรกของไทย เกิดเมื่อปี พ.ศ.2558 
หลังจากเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2559 ทางไทยได้นำเสนอแมวศุภลักษณ์ต่อคณะสมาคมแมวโลก (WCC) แล้ว จะเข้าสู่ขั้นตอนการรวบรวม List รายชื่อของแมวศุภลักษณ์และจัดทำเอกสารสำคัญอีกรอบ เพื่อผลักดันแมวศุภลักษณ์จดทะเบียนโลกให้ได้เร็วที่สุด ในปัจจุบันเราตามหาแมวศุภลักษณ์ได้เกือบ50ตัวแล้ว(เฉพาะผู้ที่นำข้อมูลมาลงทะเบียนกับสมาคมแมวไทย TIMBA) หากไม่ได้นำมาลงทะเบียนจะไม่ได้นับ ทางสแตนดาร์ดวางไว้ 200ตัว และ8รุ่นแมว และอีกมากมาย ฯลฯ จึงอยากขอวอนผู้ที่มีแมวศุภลักษณ์นำข้อแมวมาลงทะเบียน เพื่อที่จะได้ผลักดันการจดทะเบียนต่อไป ไม่ว่าแมวศุภลักษณ์จะหางขอด หางงอ สามารถลงทะเบียนได้หมดหากตรวจสอบว่าใช่ศุภลักษณ์อย่างถูกต้อง ตอนนี้ไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่งแล้ว แต่คือหน้าที่ของคนไทยทุกคนที่ต้องช่วยกันตามหาแมวศุภลักษณ์มาลงทะเบียน มิฉะนั้นเราจะไม่มีวันทำสำเร็จ และกินระยะเวลายาวนานต่อไปเรื่อยๆ

หากสามารถจดทะเบียนแมวศุภลักษณ์ได้สำเร็จ แมวศุภลักษณ์จะเป็นแมวไทยชนิดแรกที่ถูกจดทะเบียนโดยคนไทย เพราะที่ผ่านมาแมวไทยถูกชาวต่างชาติจดทะเบียนให้ เช่น แมววิเชียรมาศ, แมวมาเลศ, แมวเบอร์มีส, แมวท็องกินีส และแมวขาวมณี  แมวที่กล่าวมากนับมีต้นกำเนิดรากเหง้าจากประเทศไทยโดยทั้งสิ้น (ชาวต่างชาติจดทะเบียนให้เฉยๆ ไม่ได้ขโมยนะครับ)


การประชุมสมาคมแมวโลกที่จัดขึ้นมนกรุงเทพ เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2559 ประเทศไทยนำแมวศุภลักษณ์ไปเปิดตัวอย่างเป็นทางการแก่สมาคมแมวโลก
ชาวต่างชาติในสมาคมแมวโลก หรือ (WCC)
หนึ่งในทีมสมาคมแมวโลก เยี่ยมชมแมวศุภลักษณ์ 22 เมษายน 2559
ผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุกรรมศาสตร์จากประเทศสหรัฐอเมริกา นำยีนส์ของแมวศุภลักษณ์กลับไปวิจัยที่แล็ปประเทศสหรัฐอเมริกา

ภาพวาดแมวศุภลักษณ์กับชาวต่างชาติ
ชาวต่างชาติกับแมวไทย
ชาวต่างชาติกับแมวไทย
แมวศุภลักษณ์กับคณะสมาคมแมวโลก เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2559 

การบรรยายเรื่องแมวไทยต่อหน้าสมาชิกสมาคมแมวโลก (WCC)


ตำราแมวจากราชสำนักสยาม สมัยรัชกาลที่5
ภาพวาดแมวศุภลักษณ์ในสมัยรัชกาลที่3 ณ จุดจารึกนวดแผนไทย วัดพระเชตุพนวิมลมังคราราม, กรุงเทพมหานคร

เขียน : 24 เมษายน 2559


กด Like เพื่อติดต่ามข่าวสาร (กรุณารอ 10 วินาที)

Please Wait 10 Seconds...!!!Skip

ความคิดเห็น