แมวศุภลักษณ์ ตาสีอะไรกันแน่ ?

 


คำถามยอดฮิต : ตกลงแมวศุภลักษณ์ตาสีอะไรกันแน่ ?

ก่อนอื่นเลยเราต้องแยกให้ออกก่อนว่า ”แมวศุภลักษณ์“ ไม่ใช่แมวเบอร์มีส ไม่ได้เป็นญาติอะไรกัน มันแค่มีขนสีน้ำตาลคล้าย ๆ กันเฉย ๆ Genetic ต่างกัน ยีนสีขนก็ต่างกัน คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยเข้าใจตรงนี้ แมวไทยเบอร์มีสมีเยอะมากในประเทศไทย ส่วนแมวศุภลักษณ์นั้นมีจำนวนจำกัดเพียง 200-300 ตัวตามที่สำรวจในปี พ.ศ. 2558 - 2566 หรืออาจไม่เกิน 500 ตัว ในปี พ.ศ. 2567 นับจากผู้ที่ลงทะเบียนผ่านสมาคมแมวไทย TIMBA และสุ่มสำรวจตัวอย่างจากสมาชิกในกลุ่มแมวไทยต่าง ๆ ฯลฯ คนไทยส่วนใหญ่เมื่อเห็นแมวเบอร์มีสวิ่งตามท้องถนน ก็มักจะคิดว่าเป็นแมวศุภลักษณ์อยู่เสมอ

แมวศุภลักษณ์นั้นมียีนสีขนสีน้ำตาลจริง ๆ แบบสีน้ำตาลแท้ (Brown) ในทางสากลเรียกว่าสี Chocolate อักษรย่อพันธุกรรม (b บีเล็ก) ส่วนแมวเบอร์มีสโดยพื้นฐาน ถึงแม้ว่าขนของมันจะมีสีน้ำตาลก็จริง แต่มันมียีนสีดำ Black อักษรย่อ (B บีใหญ่) เป็นสีดำแบบดำจริง ๆ ยีนสีเดียวกับแมวดำโกนจา แต่ที่แมวเบอร์มีสมีขนสีน้ำตาลเพราะว่าแมวชนิดนี้มีความพิเศษคือการบรีดยีนสีดำ (B บีใหญ่) ให้ซีดลง หรือที่เรียกว่าการสกัดสีขนให้อ่อนลง ซึ่งแมวเบอร์มีสเป็นญาติห่าง ๆ กับแมววิเชียรมาศและแมววิฬาร์กรุงเทพ ในอดีตกาลน่าจะมีบรรพบุรุษร่วมกันมา แล้วต่างฝ่ายต่างแยกสายแยกพันธุ์ วิวัฒนาการกันออกมา บางท่านอาจจะเรียกปรากฎการณ์นี้ว่า "การเผือกแบบไม่สมบูรณ์" ซึ่งแมวเบอร์มีสเป็นแมวที่วิวัฒนาการได้ช้าที่สุด เมื่อเทียบกับแมวชนิดอื่น ๆ ที่กล่าวไปขั้นต้น จึงทำให้ขนของแมวเบอร์มีสมีขนสีน้ำตาลเข้มใกล้เคียงกับยีนสีดำ (B บีใหญ่) มากกว่าแมวเชียรมาศ ซึ่งพัฒนาจนตัวเป็นสีครีมหรือสีขาวงาช้าง ตัวแมววิเชียรมาศเองถึงแม้จะมีขนสีขาวครีม แต่มันมียีนสีขนเหมือนแมวเบอร์มีสมาก คือยีนสีดำ (B บีใหญ่) เช่นเดียวกัน และแน่นอนว่ามันบรีดสีขนจนอ่อนลงจนสามารถกลายเป็นสีขาวงาช้างได้ หลายคนคิดว่าแมววิเชียรมาศมียีนขนสีครีม, สีขาว หรือสีน้ำตาล คำตอบคือไม่ใช่ ! แมววิเชียรมาศมียีนขนสีดำปิ๊ดปี๋เหมือนแมวดำโกนจาและแมวไทยเบอร์มีสทุกอย่าง

แล้วตกลงแมวศุภลักษณ์ตาสีอะไร ? 


 จาก case study ที่ศึกษามานานหลายปี โดยการร่วมมือกับสมาคมแมวไทยโบราณนานาชาติ  TIMBA และนักวิจัย, นักวิทยาศาสตร์, รวมถึงอาจารย์มหาวิทยาลัยที่รวมตัวกันศึกษานอกเวลางาน แมวที่มียีนสีขนน้ำตาลแท้ หรือ Chocolate (b บีเล็ก) โดยส่วนใหญ่จะตาสีแบบภาพด้านซ้ายมากกว่า ซึ่งจะต้องเป็นทั้งยีนเด่นและยีนแฝงทั้ง 2 ตัวด้วย คือ CC bb DD ตรงกันทั้ง 3 คู่ บางท่านเรียกว่าตาสีอำพันหรือสียางไม้ หรือบางท่านอาจเรียกตาสีเหลืองไข่ยางมะตูม ฯลฯ ตามคำศัพท์ภาษาไทยท้องถิ่น ส่วนภาพด้านขวาก็เป็นแมวศุภลักษณ์เช่นกัน เจ้าตัวนี้เคยเจาะเลือดตรวจ DNA & Genetic แล้ว เป็นยีน Ccb bb DD คือแมวศุภลักษณ์ที่แฝงยีนเบอร์มีส ตาจึงมีสีเหลืองดอกบวบคล้ายแมวดำโกนจา (สีเหลืองอมเขียว แต่ไม่ใช่สีเขียว) 

แมวจะใช้กฎของ Mendelian genetics คือยีนเด่น ยีนด้อย ยีนแฝง วิธีดู Genetic แมวอย่างคร่าว ๆ คือการดูอักษรตัวแรกของคู่ (มี 3 คู่) เช่น Ccb Bb Dd ก็ให้ดูแค่ C_ B_ D_ ส่วนตัวห้อยท้าย cb, b, d คือยีนแฝง แทบจะไม่ปรากฎผลใด ๆ ภายนอกกับแมวเลย ต้องเจาะเลือดตรวจเท่านั้นถึงจะรู้ว่าแมวมียีนแฝงอะไรบ้าง  กฎการผสมสีแบบ Autusome เช่น พ่อครึ่ง แม่ครึ่ง หรืออย่างเช่นพ่อเป็นฝรั่งผิวขาว แม่เป็นคนดำแอฟริกัน ลูกออกมาผิวสีน้ำตาล อันนี้ใช้ไม่ได้กับแมว ไม่เหมือนกับการผสมสีแบบสุนัขและปลา หรือต้นไม้ ดอกไม้ ดังนั้นแมวจะมียีนที่ตายตัวเหมือนกรุ๊ปเลือด A B O ที่ทั่วโลกก็มีอยู่แค่นี้ เพียงแต่แมวนำมาใช้กับสีขนเป็นหลัก ดังนั้นถามว่าแมวศุภลักษณ์ตัวซ้ายและตัวขวาใช่แมวศุภลักษณ์พันธุ์แท้หรือไม่ หากมองลักษณะภายนอกทาง Phenotype และอ้างอิงตามตำราสมุดข่องของไทยว่าแมวศุภลัภักษณ์มีลักษณะอย่างไร ดังนั้นหากอ้างอิงตำราสมุดข่อย ลักษณะดังกล่าวจัดว่าเป็นแมวศุภลักษณ์แท้ทั้งคู่ คือ C (มีสีล้วนทั้งตัว) b (สีน้ำตาลช็อกโกแล็ต) D (สีเข้มไม่บอดสี) แต่สิ่งที่ทำให้สีตาของแมวศุภลักษณ์ในธรรมชาติ หรือแมวไทยพื้นบ้านแตกต่างกันออกไป (ไม่ใช่แมวฟาร์มที่มนุษย์นำมาพัฒนาแล้ว) คือตัวยีนแฝงห้อยท้าย เช่น 
  1. CC bb DD แมวศุภลักษณ์บริสุทธิ์ (ภาพซ้าย) 
  2. Ccb bb DD แมวศุภลักษณ์แฝงยีนเบอร์มีส (ภาพขวา) 
  3. Ccs bb DD แมวศุภลักษณ์แฝงยีนวิเชียรมาศ
  4. Ccm bb DD แมวศุภลักษณ์แฝงยีนวิฬาร์กรุงเทพ 
 แมวทั้ง 4 ตัวอย่าง จากการศึกษา case study ที่สุ่มตรวจ Genetic มีสีตาที่แตกต่างกันออกไป โดยตาสีเข้มสุดคือ 1 ไล่ลงมาอ่อนสุดคือ 4 ดังนั้นคำว่า “แมวศุภลักษณ์” ถ้าอ้างอิงจากความเป็น Phenotype ลักษณะภายนอกแล้ว ถ้าคำจำกัดความในตำราสมุดข่อยคือ “มีขนสีน้ำตาล หรือสีทองแดงล้วนทั้งตัว” และไม่มี mask หรือ points หรือแต้มเข้มแบบแมวเบอร์มีสและแมววิเชียรมาศ แมวศุภลักษณ์จึงสามารถมีตาสีอะไรก็ได้ แต่ต้องอยู่ในขอบเขต “ตาสีเหลือง” ถึงแม้บางตำราสมุดข่อยจะเขียนถึงดวงตาของแมวศุภลักษณ์ไว้บ้าง แต่ส่วนใหญ่เขียนว่า "ตาดั่งทับทิบแสง" หมายถึงดวงตาเมื่อสะท้อนกับแสงไฟแล้วจะมีสีแดงทับทิบ 

แต่เมื่อใดที่เราคุยเรื่องวิทยาศาสตร์หรือพันธุกรรมศาสตร์ ก็ตาม คำจำกัดความของคำว่าแมวศุภลักษณ์อาจเปลี่ยนไป อาจจะจัดอยู่ในกรอบของนิยาม “EE aa CC bb DD” เท่านั้น คือแมวขนสีน้ำตาลล้วน ขนสั้น ไม่มียีนลายเสือ ไม่มีแต้มเข้ม ไม่มีพ้อยต์ ฯลฯ หากมียีนแฝงก็จะจับนับว่ามันไม่แท้ ถึงแม้ว่าผลการแฝงยีนดังกล่าวอาจจะไม่สามารถรู้ได้เมื่อมองด้วยตาเปล่าก็ตาม คือต้องเจาะเลือดตรวจ DNA เท่านั้น

ทีนี้ก็อยู่ที่ว่าเราอยากเลี้ยงแมวไทยแบบไหน ขอให้ทุกคนมีความสุขกับการเลี้ยงแมวไทย

เรียบเรียงข้อมูลโดย : แมวสยาม Cats of Thailand
Date : 28 สิงหาคม 2024
Case study : สมาคมแมวไทยโบราณนานาชาติ TIMBA คุณพนารัตน์ คำฉัตร, คุณอดิศร สุขสมบัติ
แมวศุภลักษณ์ : TIMBA (ซ้าย), ทองแดง (ขวา) 

ความคิดเห็น