รู้จักกับแมวไทยท็องกินีส


แมวไทยท็องกินีส เป็นแมวไทยที่มีลักษณะอยู่ตรงกลางระหว่างแมววิเชียรมาศและแมวเบอร์มีส แมวไทยท็องกินีสส่วนมากตาจะสีเขียว หรือบางตัวตาสีเขียวอมฟ้า หรือตาสีฟ้าแบบหินเทอควอยซ์ (Turquoise) ซึ่งจะไม่ใช่ตาสีฟ้าแบบแมววิเชียรมาศมาศ และสีขนก็ยังไม่ใช่แมวเบอร์มีส

แมวไทยท็องกินีส (cscb) เป็นลูกผสมระหว่างแมววิเชียรมาศ (cscs) และแมวเบอร์มีส (cbcb) ทำให้แมวแต่ละตัวที่ออกมามีลักษณะไม่คงที่ ดูก้ำกึ่งและน่าสงสัยไปหมดว่าตกลงจะไปทิศทางไหน บางตัวอาจมีขนสีน้ำตาลสม่ำเสมอคล้ายนมโอวัลติน ตาสีเขียวใบตอง ส่วนมากจะพบในแมวตัวเมียมากกว่า หรือบางตัวมีตาสีฟ้าออกไปทางแมววิเชียรมาศ แต่มักมีสีขนคล้ายแมวเบอร์มีสมากกว่า ซึ่งลักษณะของแมวท็องกินีสในแต่ละตัวมักจะไม่เหมือนกัน จัดว่าเป็นแมวไทยที่ดูยากที่สุด เพราะคนมักเข้าใจผิดว่าเป็นแมววิเชียรมาศและแมวเบอร์มีส

เป็นที่ทราบกันดีว่า Genetic ของแมวไทยใช้กฎของเมนเดล หรือ Mendelian genetics หากเทียบกับคนคือกรุ๊ปเลือด AB นั่นหมายความว่าหากนำคนกรุ๊ปเลือด AB ทั้ง 2 คนมาแต่งงานกันจะสามารถให้ลูกเป็นคนกรุ๊ปเลือด A, B และ AB ได้ แมวท็องกินีสก็เป็นแบบนั้นเหมือนกัน เมื่อนำแมวท็องกินีส 2 ตัวมาผสมกัน สามารถออกลูกได้เป็นแมวท็องกินีส, แมววิเชียรมาศ และแมวเบอร์มีสได้ 

อนึง หลายคนสงสัยว่า คำว่า “ท็องกินีส” หรือ Tonkinese แปลว่าอะไร แล้วทำไมแมวไทยถึงเรียกแบบนั้น ? 

ขออธิบายเรื่องแมวเบอร์มีสก่อน ความจริงแล้วทั้งแมววิเชียรมาศและแมวเบอร์มีสควรจะเป็นแมวไทยทั้งคู่ตามหลักพันธุกรรมศาสตร์ ซึ่งตามข้อสันนิฐานที่ใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยวิเคราะห์ ในอดีตพวกมันมีบรรพบุรุษร่วมกันแล้วแยกสายออกมาพัฒนาเป็นแมววิเชียรมาศ, แมวเบอร์มีส รวมถึงแมววิฬาร์กรุงเทพ ซึ่งแมว 3 ชนิดนี้จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกัน และพบมากในที่ราบภาคกลาง ตลอดแนวลุ่มน้ำเจ้าพระยา ในบันทึกสมัยกรุงศรีอยุํยาได้มีหลักฐานการจดบันทึกเรื่องแมวไว้เยอะมาก แต่แมวเบอร์มีสที่เคยถูกคนเข้าใจผิดว่าเป็นแมวพม่านั้นกลับไม่พบในประเทศพม่าเลย ลองนึกภาพตามว่าแมวทั้ง 3 ชนิดนี้เป็นเครือญาติเดียวกันตามหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ แต่ทำไมกลับพบแมววิเชียรมาศและแมววิฬาร์กรุงเทพเป็นจำนวนมากในไทย แถมยังเป็นแมวท้องถิ่นในภาคกลางของไทยที่หาได้ทั่วไปตามท้องถิ่น ชุมชน หมู่บ้าน วัด ฯลฯ แต่แล้วถ้าบอกว่าแมวเบอร์มีสเป็นแมวพม่า แล้วอะไรที่ทำให้มันแยกแผ่นดินออกจากกัน ในเมื่อพรมแดนระหว่างไทย & พม่า มีเทือกเขาสลับซับซ้อนตั้งแต่ภาคเหนือถึงภาคใต้ คือ เทือกเขาแดนลาว, เทือกเขาถนนธงชัย, เทือกเขาตะนาวศรี มีความสูงไม่ต่ำกว่า 1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเลทั้งนั้น มีกลุ่มผืนป่าขนาดใหญ่เป็นตัวกั้นอีกมากมาย เช่น กลุ่มป่ามรดกโลกโลกห้วยขาแข้ง กลุ่มป่ามรดกโลกแก่งกระจาน เป็นต้น ซึ่งยังแบ่งสภาพระบบเวศน์ของป่าออกได้อีกหลายประเภท ตั้งแต่ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา มันแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่บอกว่าแมววิเชียรมาศกับแมวเบอร์มีสเป็นญาติกัน (ผลทางวิทยาศาสตร์เป็นแบบนั้น) แต่กลับพบแมวเบอร์มีสในดินแดนอันห่างไกลที่เดินทางไปได้อย่างไร มันแทบเป็นไปไม่ได้เลยในธรรมชาติที่แมวบ้านจะเดินทางข้ามผืนป่าหลายล้านไร่ออกไปเอง โดยไม่รู้จุดมุ่งหมายว่าหนทางข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ซึ่งความจริงแล้วแมวเบอร์มีสน่าจะเป็นแมวไทยมากกว่า แต่ถูกเคลื่อนย้ายด้วยมนุษย์ในยุค 200 ปีที่ผ่านมา ทำให้มันกระจายถิ่นฐานออกไป เพราะในพม่าพบแมวชนิดค่อนข้างยาก ในเรื่องตลกร้ายคือเราพบแมวส้มและแมวลายเสือที่เป็นเอเลียนสปีชส์จริง ๆ จากตะวันตกมากกว่าแมวเหล่านี้ด้วยซ้ำ 

ย้อนกลับไปในอดีตเมื่อราว 100-150 ปีก่อน แมวไทยถูกนำออกไปนอกประเทศมากมายในนาม Siamese cat โดยเฉพาะในทวีปยุโรปและประเทศสหรัฐอเมริกา จากแมววิเชียรมาศ Siamese cat ตาสีฟ้าธรรมดา ฝรั่งก็เริ่มคิดว่าแมวเบอร์มีสตาสีเหลืองเป็น Siamese cat ที่มีดวงตาสีเหลืองแปลกออกไป ในเริ่มแรกมีการตั้งชื่อแมวเบอร์มีส (Burmese cat) ก่อน เพื่อให้คู่กับ Siamese cat ซึ่งผู้ตั้งชื่อคือชาวสหรัฐอเมริกาที่เปิดฟาร์มแมวไทย ตอนตั้งชื่อเขาได้มีฟาร์มแมววิเชียรมาศเป็นของตัวเองอยู่แล้ว และแมวเบอร์มีสของเขาก็ถูกผสมกับแมววิเชียรมาศอยู่หลายรุ่น ใช้เวลาหลายปี ดังนั้นแมวเบอร์มีสในสหรัฐอเมริกาจึงไม่ใช่แมวพันธุ์แท้ตั้งแต่เริ่มต้นอยู่แล้ว แถมยังเกิดมาจากฟาร์มแมววิเชียรมาศที่ชื่อ Siamese cat อีกด้วย กล่าวคือพวกเขาได้ยีน cb ที่ติดมาจากแมวไทย ที่พวกฝรั่งพยายามค้นหาเพื่อนำเข้ามาสหรัฐอเมริกาเพื่อทำฟาร์มแมว ในยุคนั้นคนยังไม่มีความรู้เรื่องวิทยาศาสตร์มากนัก จึงเป็นแมววิเชียรมาศบ้าง ท็องกินีสบ้าง เบอร์มีสบ้าง เค้าก็มองว่าเป็น Siamese สีแปลก สีเพี้ยน ซึ่งฝรั่งได้ตีพิมพ์บอกไว้เองว่าแมวเบอร์มีสในช่วงแรกเค้าคิดว่ามันคือ แมว Siamese cat ตาสีเหลืองที่มีความเพี้ยนออกไป 

ต่อมาเมื่อฟาร์มแมวไทยในสหรัฐอเมริกาสามารถผลิตลูกแมวได้มากขึ้น พวกเขาก็เริ่มมีแมวตาสีเขียวอมฟ้าแบบในภาพเยอะขึ้น (แมวท็องกินีส) ด้วยจากการผสมข้ามไปข้ามมาหลายรุ่น มันก็มีลูกเด้งกลับไปเป็นวิเชียรมาศบ้าง แมวเบอร์มีสบ้าง จึงทำให้รู้ว่าแมวไทยเหล่านี้มันเป็นกฎของเมนเดล หรือ Mendelian genetics แน่ ๆ เหมือนเรื่องถั่วเหลืองกับถั่วเขียวที่มันไม่สามารถผสมรวมกันได้เหมือนน้ำกับน้ำมัน เค้าจึงตั้งชื่อแมวชนิดนี้ว่า "แมวท็องกินีส" มาจากคำว่า Tonkin ในภาษาอังกฤษ หมายถึงดินแดน “ตังเกี๋ย” ในเวียดนามเหนือ และมีอ่าวตังเกี๋ย (Gulf of Tonkin) ของเวียดนามเหนือที่มีเกาะไหหลำของจีนตั้งอยู่ด้วย ซึ่งดูแล้วชื่อท็องกินีสไม่สอดคล้องกับถิ่นกำเนิดของแมวไทยเอาซะเลย เพราะแท้จริงแล้วฝรั่งอเมริกาแค่อยากหาชื่อให้มันดูสอดคล้องกับฟาร์มแมว Siamese cat ของเขา จึงได้ตั้งชื่อ Burmese และ Tonkinese ที่อยู่บนคาบสมุทรอินโดจีนขึ้นมาเป็นเพื่อนเท่านั้น 

สุดท้ายแล้วทั้งแมวเบอร์มีสและแมวท็องกินีสยังไม่มีชื่อไทยอย่างเป็นทางการ เราจึงจำเป็นต้องเรียกคำว่า แมวไทยเบอร์มีส และ แมวไทยท็องกินีส โดยมีคำว่า "ไทย" นำหน้าเสมอ เพราะพวกมันไม่ใช่เอเลียนสปีชีส์ในไทยแบบแมวส้มและแมวลายสลิด แต่พวกมันเป็นแมวไทยจริง ๆ ที่ถูกฝรั่งเอาไปตั้งชื่อจนมีความเพี้ยนไปหมด แถมไม่สอดคล้องกับถิ่นกำเนิดของมันจริง ๆ 

แมวไทยนั้นน่าสงสารมากที่มักถูกคนมองข้ามเสมอ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีฝรั่งออกมาเขียนบทความว่าแมววิเชียรมาศมียีนหิมาลายันจึงทำให้มันมีใบหน้าสีดำตามความร้อนเย็นของอุณหภูมิ ซึ่งข้อเท็จจริงแล้วแมวหิมาลายันนั่นแหละที่เอา Genetic แมวไทยไปพัฒนาจนกลายเป็นแมวเปอร์เซีย เพราะหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ขดทะเบียนไว้แล้วได้บอกเองว่ายีน cs ในแมวหน้ากาก มีดวงตาสีฟ้า ย่อมาจาก cat of Siamese ซึ่งผู้พัฒนาแมวหิมาลายันก็รู้ตัวเองตั้งแต่แรกว่านำลักษณะของแมว Siamese Cat ไปดัดแปลง รวมถึงพวกแมวสฟริงซ์ไร้ขนที่ตาสีฟ้า หน้ามีแต้มเข้มหรือ points แมวเปอร์เซีย แมวแร็กดอลล์ แมวมัสกิ้นสีวิเชียรมาศ และอีกมากมาย ฯลฯ ตรวจ DNA Genetic พบยีน cs ที่ย่อมาจาก cat of Siamese ทั้งสิ้น โดยล่าสุดก็เริ่มเจอยีนเหล่านี้ในแมวสก็อตติช บริติช และเมนคูน








ความคิดเห็น